หน้าหลัก > ข่าว > สื่อโสตทัศน์/วารสารใหม่ > พฤติกรรมอะไรที่สร้าง “จุดบอด” ให้ตนเอง
พฤติกรรมอะไรที่สร้าง “จุดบอด” ให้ตนเอง

admin admin2
03 พฤศจิกายน 2566 15:18:53

พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล. (2566, ตุลาคม), พฤติกรรมอะไรที่สร้าง “จุดบอด” ให้ตนเอง : Gourmet & Cuisine : 144



            อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งที่ทําให้เราไม่สามารถประสบความสําเร็จในหน้าที่การงานได้ตามที่คาดหวัง ก็คือการไม่รู้จักตนเองดีพอว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร และสิ่งที่อันตรายที่สุดคือการไม่รู้ว่าตนเองอาจจะมี “จุดบอด” อะไรบ้าง

            ตัวอย่างต่อไปนี้คือพฤติกรรมหรือนิสัยทีนักจิตวิทยาให้ความเห็นว่าสามารถสร้างความเสียหายให้กับตนเอง และทําลายความสัมพันธ์กับผู้อื่น

           มีความทะเยอทะยานอย่างไร้จุดยืน : ต้องการที่จะเอาชนะ หรือเป็นฝ่าย “ถูก” เสมอไม่ว่าจะต้องสูญเสียอะไรก็ตาม ชอบแข่งขันแทนที่จะร่วมมือ มักโอ้อวดตัวเองเกินความเป็นจริง และหยิ่งยโสมองผู้คนในเชิงของมิตรหรือศัตรู

          มีเป้าหมายที่ไม่สมเหตุสมผล : ตั้งเป้าหมายที่ไม่สามารถบรรลุได้เมื่อเทียบกับความพยายามที่ต้องใช้เพื่อที่จะทํางานให้สําเร็จ

          ต่อสู้อย่างทรหดไม่ผ่อนปรน : บังคับตัวเองให้ทํางานหนัก สูญเสียพลังอย่างไม่คุ้มค่า ทำให้ร่างกายหมดสภาพได้

          ผลักดันคนอื่น : กดดันคนอื่นหนักเกินไป ชอบบริหารจัดการในเรื่องจุกจิกมักควบคุม แทนที่จะมอบอำนาจ ใช้วิธีการที่ปราศจากความเมตตา และไม่อ่อนไหวต่ออารมณ์ที่อาจทําร้ายผู้อื่นได้

          หิวกระหายต่ออำนาจ : แสวงหาอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แทนที่จะทําเพื่อส่วนรวม โดยไม่สนใจมุมมองของคนอื่น

          ต้องการการยอมรับอย่างไม่รู้จักพอ : เสพติดต่อชื่อเสียงและความรุ่งโรจน์ มักถือเอาเครดิตจากความพยายามของคนอื่น แสวงหาชัยชนะในอนาคตอย่างไม่สิ้นสุด

           หมกมุ่นในภาพลักษณ์ภายนอก : ต้องการให้ตนเองดูดีในสายตาผู้อื่นเสมอ พร้อมแลกด้วยต้นทุนทุกอย่าง กังวลเกินไปต่อภาพลักษณ์ในสังคมติดกับดักของความฟุ้งเฟ้อทางวัตถุ

          ต้องการที่จะดูเหมือนสมบูรณ์แบบ : ไม่พอใจต่อการถูกปฏิเสธหรือถูกวิจารณ์แม้ว่าจะสมเหตุสมผล มักกล่าวโทษคนอื่นต่อความผิดพลาดของตนเอง ยอมรับความผิดพลาดหรือจุดอ่อนส่วนตัวไม่ได้

          พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น บั่นทอนความสุข และความก้าวหน้าในการทํางานและใช้ชีวิต ทําอย่างไรเราจึงจะรู้ถึงข้อบกพร่องของตนเอง ตัวช่วยที่ดีคือเราต้องใจกว้างมากพอที่จะรับฟังการสะท้อนกลับจากคนอื่น และหมั่นทบทวนพิจารณาตนเองอย่างไม่ลําเอียง รวมทั้งยินดีพัฒนาปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเส้นทางเดินใหม่ที่สดใสกว่าเดิม